รู้หรือไม่?
ทำไมการวางยาสัตว์จึงควรปฏิบัติโดยผู้เชี่ยวชาญ?

การวางยาสลบสัตว์เลี้ยงเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญที่ทำควบคู่ไปกับการผ่าตัด หรือหัตถการต่างๆ โดยมีจุดประสงค์ทำให้สัตว์ปราศจากการรู้สึกตัว ไม่แสดงการเจ็บปวด และไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ขณะผ่าตัด เพื่อให้กระบวนการผ่าตัดสามารถดำเนินไปได้อย่างปลอดภัยสูงสุด ซึ่งต้องปฏิบัติโดยวิสัญญีสัตวแพทย์ หรือสัตวแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวางยา


🐾 ข้อปฏิบัติในการการเตรียมตัวสัตว์สำหรับการวางยาสลบ

1. การประเมินและการเตรียมตัวที่ดีก่อนการวางยาสลบ:
เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อช่วยในการวางแผนการวางยาได้อย่างเหมาะสม ปลอดภัย และลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่จะตามมาได้

ก่อนการวางยา:

  • ควรตรวจประเมินสภาพสัตว์เลี้ยง อันประกอบด้วย การซักประวัติ การตรวจร่างกาย ดูความผิดปกติภายนอก รวมไปถึงการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ดูความผิดปกติของค่าเลือด หรือในบางกรณีอาจจำเป็นต้องทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ อัลตราซาวด์ หรือ เอกซเรย์ เป็นต้น เพื่อประเมินสภาพร่างกายตามหลัก ASA (American Society of Anesthesiologists)
  • เมื่อประเมินสภาพร่างกายสัตว์แล้ว ก่อนการวางยาต้องเตรียมตัวสัตว์ โดยปฏิบัติตามขั้นตอนที่สัตวแพทย์แนะนำ ได้แก่ งดอาหาร 6-12 ชั่วโมง ก่อนการผ่าตัด เพื่อป้องกันการอาเจียน หรือการขย้อนอาหารออกมา ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการสำลักอาหารเข้าไปในปอด และเกิดปัญหาทางระบบหายใจแทรกซ้อนตามมาได้

🐾 ระหว่างการวางยา และหลังการวางยา ควรปฏิบัติอย่างไร:

2. ระหว่างการวางยา:
ในขณะที่สัตว์สลบอยู่ จำเป็นต้องมีวิสัญญีสัตวแพทย์ หรือสัตวแพทย์ทำหน้าที่ให้การดูแลอย่างใกล้ชิด และประเมินสัญญาณชีพ เช่น การรู้สึกตัว การหายใจ ตลอดระยะเวลาการสลบ เพื่อความปลอดภัยของสัตว์เลี้ยง

3. ภายหลังการวางยา:
เมื่อการผ่าตัดเสร็จสิ้นลง สัตว์เลี้ยงควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดในบริเวณพักฟื้น เพื่อเฝ้าระวังอาการ หรือภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้ อย่างน้อย 1 ชั่วโมง หรือจนกว่าความดันเลือด และอัตราการเต้นของหัวใจจะกลับมาอยู่ในระดับปกติ หรือใกล้เคียงกับตอนก่อนวางยา พร้อมทำการตรวจเช็คการตอบสนองต่างๆของร่างกายสัตว์เลี้ยง เพื่อประเมินการฟื้นจากยาสลบได้อย่างปลอดภัย

  • ควรตรวจสอบการตอบสนองทางร่างกายของสัตว์เลี้ยงเพื่อให้แน่ใจว่าจะฟื้นตัวจากยาสลบได้อย่างปลอดภัย
  • การติดตามภาวะแทรกซ้อนในช่วงระยะเวลาการฟื้นตัวถือเป็นสิ่งสำคัญเพื่อหลีกเลี่ยงผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์

หากปฏิบัติตามขั้นตอนเหล่านี้ เจ้าของสัตว์เลี้ยงจะมั่นใจได้ว่าสัตว์เลี้ยงของตนจะได้รับการดูแลที่ปลอดภัยที่สุดระหว่างและหลังการวางยาสลบ ควรปรึกษาสัตวแพทย์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเสมอสำหรับขั้นตอนทางการแพทย์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงของคุณ

แหล่งอ้างอิง
: Grubb, T., Sager, J., Gaynor, J. S., Montgomery, E., Parker, J. A., Shafford, H., & Tearney, C. (2020). 2020 AAHA Anesthesia and Monitoring Guidelines for Dogs and Cats*. Journal of the American Animal Hospital Association, 56(2), 59–82. https://doi.org/10.5326/jaaha-ms-7055

:: VetSynova Stories ::